ไปรท์ค่ะYou

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

โรคในโคและกะบือ


ไข้น้ำนม (Milk fever)


โรคนี้มักจะพบในแม่โคที่คลอดลูกตัวที่ 3 (มีลูกมาแล้ว 3 ตัวขึ้นไป) โดยพบอาการป่วยในระยะ 24-27 ชั่วโมงหลังคลอด
สาเหตุ
เกิดจากระดับแคลเซี่ยมในเลือดในระยะหลังคลอดลดลง เนื่องจากฮอร์โมนที่ทำหน้าที่
ดึงแคลเซียมจากกระดูกอยู่ในภาวะเฉื่อยมักพบในโคนมที่อ้วนและให้นมสูง ร่างกายแม่โค ไม่สามารถที่จะดึงแคลเซียมที่สะสมไว้ในร่างกายมาผลิตน้ำนมได้พอเพียง ทำให้เกิดการขาดแคลเซี่ยมอย่างฉับพลันในกระแสเลือด

อาการ
แม่โคมักจะนอนคอพับหันหน้าไปทางสวาบ ขาหลังอ่อน ปลายหูและปลายขาจะเย็น
ม่านตาขยาย หายใจหอบ จมูกแห้ง แม่โคไม่กินอาหาร ระบบย่อยอาหารไม่ทำงาน
ถ้าไม่ได้ทำการรักษาโดยเร็วแม่โคจะตายเนื่องจากอาการท้องอืด หรือจากระบบ
การหายใจล้มเหลว
การรักษา
กรณีสงสัยว่าแม่โคป่วย ด้วยโรคนี้ควรให้แคลเซี่ยมโบโรกลูโคเนต 25% เข้าเส้นเลือดดำใหญ่ที่คอ (Jugular vein) อย่างช้าๆ ประมาณ 250 ซี.ซี. และอีกประมาณ 200 ซี.ซี.
ฉีดเข้าใต้หนังหลายๆ จุด จุดละประมาณ 50 ซี.ซี. และควรให้สารละลายฟอสฟอรัส เช่น
คาโตซาล โทโนฟอสฟาน หรือฟอสโฟโทนิคฉีดเข้ากล้ามตามไปด้วย นอกจากนี้ควรฉีดวิตามิน AD3E เพื่อช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยม ซ้ำอีกประมาณ 6 ชั่วโมงต่อมา
โดยทั่วไปแม่โคจะลุกได้เองภายใน 4 ชั่วโมงหลังจากให้ยาครั้งแรก
การป้องกัน
1. ในระยะ 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด ควรลดระดับแคลเซี่ยมในอาหาร เพื่อกระตุ้นให้ฮอร์โมนที่มีหน้าที่ดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกมาใช้อยู่ในสภาพ เตรียมพร้อมที่จะนำ
แคลเซี่ยมมาใช้ได้ทันทีในระยะหลังคลอด
2. ไม่ควรให้แม่โคอ้วนเกินไปในระยะพักรีดนม เพราะจะทำให้แม่โคกินอาหารได้น้อยและยังไปลดการดูดซึมแคลเซี่ยมที่ลำไส้ใน ระยะหลังคลอด ทำให้เกิดการขาดแคลเซี่ยมในกระแสโลหิตอย่างกระทันหันได้
3. ควรตรวจดูระดับอัตราส่วนแคลเซี่ยมต่อฟอสฟอรัสในอาหารให้อยู่ในระดับสมดุลย์ (1:1-2:1) ไม่ควรให้เกิน 3:1

โรควัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อเรื้อรัง สามารถติดต่อระหว่างคนกับสัตว์ได้ เชื้อโรคนี้มี
ความทนทานสามารถอยู่ในซากสัตว์ได้หลายสัปดาห์ และสามารถอยู่ในน้ำนมได้ประมาณ 10 วัน
สาเหตุและการแพร่โรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า ไมโคแบคทีเรียม โบวิส (Mycobacterium bovis) 
ตัวการที่แพร่โรค คือ คนและสัตว์ที่ป่วย การติดต่อเกิดขึ้นได้หลายทาง คือ 
การหายใจ พบมากที่สุดถึง 70%
การกินน้ำ อาหาร น้ำนม
การสัมผัสทางผิวหนังที่เป็นแผล
ติดต่อจากแม่ที่ป่วยไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางสายสะดือ
การผสมพันธุ์
อาการ
สัตว์จะเบื่ออาหารซูบผอมลงเรื่อยๆ ในกรณีที่เกิดขึ้นที่ปอดช่องอก สัตว์อาจจะมีไข้ได้
เล็กน้อย อาการอื่นๆ นอกจากนี้จะขึ้นกับอวัยวะที่เป็น เช่น เกิดวัณโรคที่ปอด สัตว์จะไอในตอนกลางคืนหรือเมื่อทำงานหนัก วัณโรคที่ลำไส้จะมีอาการท้องเสียร่วมด้วย วัณโรคที่ลูกอัณฑะ ลูกอัณฑะจะบวมโต วัณโรคที่เต้านม เต้านมจะอักเสบ วัณโรคที่สมองจะพบว่าสัตว์มีอาการทางประสาท เมื่อชำแหละซากสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะพบตุ่มเป็นก้อนสีเทามันๆ ตรงกลางจะเป็นหนองสีเหลือง หนองแข็ง หรือแบบมีหินปูนแทรกขึ้นกับระยะเวลาที่เป็นโรคตุ่มนี้มักพบตามอวัยวะหรือ ต่อมน้ำเหลือง
การตรวจวินิจฉัย
ตรวจดูลักษณะอาการทั่วไป : น้ำหนักลด ซูบผอม มีอาการเกี่ยวกับระบบหายใจ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
การทดสอบทางผิวหนัง เน้นการทดสอบโรคโดยการฉีดสารทูเบอร์คูลินเข้าชั้น
ผิวหนัง ที่บริเวณใต้โคนหาง หรือแผงคอ อ่านผลโดยการวัดความหนาของชั้น
ผิวหนังหลังฉีด 72 ชั่วโมง
การตรวจในห้องปฏิบัติการ เช่น การแยกหาเชื้อแบคทีเรีย การตรวจทาง
จุลพยาธิวิทยา การย้อมสี และการตรวจทางซีรั่มวิทยา การตรวจดีเอ็นเอ 
และอาร์เอ็นเอ
การดูแลรักษาเบื้องต้น
ไม่มียารักษา เมื่อพบสัตว์ป่วยให้แยกออกจากฝูง แล้วทำลาย
การควบคุมและป้องกัน
ควรติดต่อสัตวแพทย์ในท้องที่ให้ทำการทดสอบโค ด้วยวิธีการทดสอบทางผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง
ถ้าพบว่าสัตว์ในฝูงเป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรค ควรแยกสัตว์นั้นออกจากฝูงและทำลายสัตว์
ฟาร์มที่เคยมีประวัติการเป็นโรค หรือยังคงมีโรคนี้อยู่ต้องมีการตรวจโรคสม่ำเสมอ และทำการเฝ้าระวังโรค
การนำสัตว์เข้า-ออก จากฟาร์ม ต้องทำการตรวจโรค

แยกหาเชื้อแบคทีเรีย : เก็บวิการแช่เย็น/แช่แข็ง
ตรวจทางจุลพยาธิวิทยา : เก็บวิการแช่ในน้ำยาฟอร์มาลินบัฟเฟอร์ 10%



โรคท้องร่วง (Diarrhea)

ท้องร่วง ท้องเสีย หรือท้องเดิน หมายถึง ภาวะที่สัตว์มีอาการถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระเหลวมากกว่าปกติ หรือถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูกหรือมูกเลือด โรคนี้เกิดได้กับโคทุกอายุ
พบมากในลูกโคและมักจะมีอาการรุนแรง
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่
     1.1 เชื้อแบคทีเรีย ที่สำคัญ ได้แก่ อี คอไล, ซาลโมเนลล่า และ คลอสตริเดียม เพอฟรินเจน (E.coli, Salmonella spp. และ Clostridium perfringens)
เชื้ออี คอไล (E. coli) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคมากที่สุด
     1.2 เชื้อไวรัส ได้แก่ โรทาไวรัส และโคโรนาไวรัส (Rotavirus และ Coronavirus)
     1.3 โปรโตซัว ได้แก่ คอกซิเดีย (Coccidia)
     1.4 เชื้อรา ได้แก่ แอสเปอจิลลัส, มิวเคอ และแคนดิดา (Aspergillus spp., Mucor spp. และ Candida spp.) เป็นต้น
เกิดจากการกินอาหารหรือนม ที่ทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ โคกินอาหารหรือนมที่มีคุณภาพต่ำ หรือไม่เหมาะสม และการให้อาหารไม่ถูกวิธี เช่น กินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีวิตามินต่ำ โดยเฉพาะวิตามินเอ อาหารที่ย่อยยาก อาหาร
ที่เป็นพิษ หรือการเปลี่ยนอาหารอย่างกระทันหัน เป็นต้น นอกจากนี้ การขาดธาตุทองแดง ก็ทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน สำหรับลูกโค ส่วนมากอาการท้องเสียมักเกิดจากกินนมมากเกินไป กินนมที่เย็นจัด หรือกินอาหารนมที่มีอัตราส่วนของ
คาร์โบไฮเดรทไม่เหมาะสม
กินพืชที่มีพิษหรือสารเคมี เช่น สารหนู ตะกั่ว และทองแดง
อาการท้องร่วงเนื่องจากเป็นโรคอื่น มักเป็นกับโครุ่นอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ได้แก่ โรคโบวายไวรัลไดอะเรีย, มิวโคซัลดิซีส, มาลิกแนน คาทารัล ฟีเวอร์,
พาราทูเบอร์คูโลซีส, แอคคิว แมสไตติส หรือเซพติค เมทไทรติส (Bovine viral diarrhea, Mucosal disease, Malignant catarrhal fever, Paratuberculosis (Johne's disease), Acute mastitis หรือ Septic metritis) เป็นต้น
โรคนี้มักมีสาเหตุโน้มนำ คือ
1. ลุกโคไม่ได้กินนมน้ำเหลืองทันทีหลังคลอด หรือกินได้ไม่เพียงพอ
2. เกิดจากความเครียด ได้แก่ คอกสกปรก ชื้นแฉะ โคอยู่กันอย่างแออัดกระทบกับอากาศเย็นเกินไป
3. เกิดจากการติดเชื้อภายหลังคลอด เช่น สายสะดืออักเสบ ข้ออักเสบ ปอดบวม หรือจากเต้านมที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน
4. การสุขาภิบาลและการจัดการดูแลอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม
อาการ
จำแนกออกตามสาเหตุได้ดังนี้
1. โคไลแบซิลโลซิส (Colibacillosis) เกิดจากเชื้ออี. โคไล (E.coli) เป็นกับลูกโคอายุต่ำกว่า 2 สัปดาห์ มีอาการรุนแรงและอัตราการตายสูง ส่วนใหญ่เกิดกับลูกโคตั้งแต่
แรกเกิดถึง 5 วัน โดยทั่วไปลูกโคจะแสดงอาการทันทีด้วยการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ
มีสีเหลืองปนขาวหรือขาว (White scour) มีเลือดปน กลิ่นเหม็น ซึม มีไข้ ไม่กินอาหาร
มีอาการขาดน้ำ อ่อนเพลีย เบ้าตาลึก ขนหยาบกระด้าง ก้าวเดินไม่ค่อยออก อาจมีอาการปวดท้อง หรืออาการทางประสาทร่วมด้วย ถ้าไม่รักษา หรือเกิดร่วมกับไวรัส จะทำให้
ลูกโคตายภายใน 1-3 วัน ลูกโคที่เป็นอย่างเฉียบพลัน จะตายทันทีโดยไม่แสดงอาการท้องร่วงหรือมีไข้
ในรายที่เป็นเรื้อรังจะซูบผอม ท้องป่อง ท้องเสีย แคระแกรน มักมีอาการปอดบวม (Pneumonia) ข้ออักเสบ (Arthritis) เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) ร่วมด้วย
2. ซัลโมเนลโลซีส (Salmonellosis) เกิดจากเชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella) เป็นกับโคอยุ 2 สัปดาห์ ขึ้นไป อาการแบบรุนแรงมักพบในลูกโค อายุ 2-6 สัปดาห์ สำหรับลูกโคอายุ 2 สัปดาห์ มักจะแสดงอาการโลหิตเป็นพิษ (Septicemia) อาการทั่วไปของโรค คือถ่ายเหลวมีเลือดปนออกมา อาจมีกลิ่นเหม็น มีเยื่อเมื่อกหรือมูก ไข้สูง (105-107 องศาฟาเราไฮท์) ซึม เบื่ออาหารอ่อนเพลีย ร่างกายขาดน้ำและซูบผอมอย่างรวดเร็ว บางครั้งมีอาการปวดท้องกระวนกระวายกระหายน้ำร่วมด้วย โคอาจตายภายใน 6-36 ชั่วโมง และบางตัวอาจตายภายใน 2-5 วัน หลังแสดงอาการ โคที่กำลังให้นม น้ำนมจะลดลงหรือหยุดเลย โคที่ท้องจะแท้ง ถ้าเป็นอย่างเฉียบพลัน โคจะตายอย่างกระทันหันโดยไม่แสดงอาการ
อาการแบบไม่รุนแรงหรือเรื้อรัง มักเป็นกับโค อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีอาการเบื่ออาหาร ไข้สูงๆ ต่ำๆ น้ำหนักลด ซูบผอม เซื่องซึม เลี้ยงไม่โต ขนหยาบ กระด้าง
ท้องป่อง ท้องเสียอาจมีเลือดหรือมูกปน ร่างกายขาดน้ำ และผอมลงเรื่อยๆ
โคที่เป็นโรคนี้ อาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอ น้ำมูกไหล และปวดบวมร่วมด้วย
3. คลอสตริเดียล เอนเตอโรท๊อกซีเมีย (Clostridial enterotoxaemia) เกิดจากพิษของเชื้อ คลอสตริเดียม เพอฟรินเจน (Clostridium perfringens) ทำให้เกิดลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง (Severe hemorrhage enterotoxaemia) หรือ เกิดเนื้อตายที่ลำไส้ (Necrotizing enteritis) อาการที่พบ คือ ท้องเสีย อาจมีมูกเลือดปน ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำลายไหล เดินโซเซ งุ่มง่าม มึนงง บางครั้งมีอาการทางประสาท ในรายที่เป็นอย่างเฉียบพลันสัตว์จะตายภายใน 2-3 ชั่วโมง โดยไม่แสดงอาการ
4. อาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักเป็นกับโคอายุ 1-21 วัน แต่พบมากในลูกโคอายุ 5-10 วัน มีอาการถ่ายเป็นน้ำ อุจจาระมีสีเหลืองซีดหรือสีเทา มีมูกหรือนมปน บางรายพบว่า
มีเนื้ออุจจาระออกมามาก มีสีเขียวคล้ำหรือน้ำตาลอ่อนและมีมูกปน ลูกโคจะมีอาการเซื่องซึม มีไข้ เบื่ออาหาร ถ้ามีเชื้อแบคทีเรีย หรือการจัดการ และการสุขาภิบาลไม่ดี อาการจะรุนแรงมากขึ้น อาการขาดน้ำอย่างรุนแรงและซูบผอมอาจเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง และมีการติดต่อระหว่างลูกโคอย่างรวดเร็ว
5. อาการที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนใหญ่เกิดกับโคโต เนื่องจากกินอาหารที่มีเชื้อราปนเปื้อน หรือกินยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ทำให้เกิดทางเดินอาหารอักเสบ อาการท้องเสียมักเป็นแบบเรื้อรัง อุจจาระมีสีเหลืองหรือสีคล้ำ สัตว์มีอาการ ซึม เบื่ออาหาร ซูบผอม ถ้าเกิดจากอะฟล่าท๊อกซิน จะมีอาการดีซ่าน (Jaundice) ร่วมด้วยรักษาด้วยยาปฏิชีวนะมักไม่ได้ผล
6. อาการที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย มักเป็นกับลูกโคอายุไม่เกิน2เดือน มีอาการท้องร่วง ซึม อ่อนเพลีย ซูบผอม ท้องป่อง ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ถ้าพลิกตัวไปมาจะได้ยินเสียงก้อนนมกลิ้งอยู่ภายในกระเพาะ อุจจาระมีสีเหลืองซีด บางครั้งมีสีคล้ำ อาจมีเลือดออกมาด้วย ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียแทรก อุจจาระจะมีสีขาวหรือเหลืองขาว ถ้าเป็นแบบเรื้อรัง ลูกโคจะ
ซูบผอมลงเรื่อยๆ แคระแกรน มีท้องร่วงเรื้อรัง
อาการที่เกิดจากการขาดธาตุทองแดง ส่วนใหญ่เป็นกับโค อายุ 3 เดือนถึงโตเต็มที่ อาการทั่วๆไปคือ ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด โลหิตจาง ขนเปลี่ยนสี และมักพบเป็นทั้งฝูง
7. อาการจากพิษของสารเคมี เป็นกับโคได้ทุกอายุ อาการที่พบทั่วๆ ไป คือ ท้องเสียอย่างรุนแรง มีเลือดหรือมูก บางครั้งมีกลิ่นเหม็น ปวดท้อง อาจมีอาการขาดน้ำ หรืออาการทางประสาท เช่น ชัก กล้ามเนื้อสั่น โคอาจตายภายใน 4-8 ชั่วโมง หลังแสดงอาการ
การรักษา
แยกตัวป่วยออกจากฝูง ให้อยู่ในที่อบอุ่น สะอาดและแห้ง
หยุดกินนมประมาณ 2 วัน หรือลดปริมาณน้ำนมที่ให้ลง แล้วให้เกลือแร่และน้ำตาลแทน
ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Streptomycin, Neomycin, Ampicillin, Amoxycillin, Terramycin, Aureomycin หรือ Sulfonamide เป็นต้น และให้อีเล็กโตรไลท์ (electrolyte) และยาเคลือบกระเพาะ
ในรายที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย หรือกินอาหารหรือนมมากเกินไป ถ้าอาการ
ไม่รุนแรงและนมที่จับเป็นก้อนในกระเพาะมีขนาดเล็ก ให้กินน้ำมันละหุ่ง (Castor oil)
การควบคุมและป้องกัน
การสุขาภิบาลที่ดี และการให้อาหารอย่างถูกต้อง จะช่วยลดการเกิดโรคได้ เช่น
ให้ลูกโคกินนมน้ำเหลืองทันทีภายใน 15-30 นาที หลังคลอดและให้กินเต็มที่
ภายใน 12 ชั่วโมง แล้วกินติดต่อกันอีก 3-4 วัน
ลดการติดเชื้อหลังคลอด ได้แก่ คอกคลอด คอกลูกโค รางน้ำ และอาหาร
ต้องสะอาดและแห้งอยู่เสมอ สายสะดือลูกโคต้องตัดอย่างสะอาด และฆ่าเชื้อโรคด้วยทิงเจอร์ไอโอดีนทำความสะอาดเต้านมทุกครั้งที่ให้ลูกกิน หรือรีดนมแล้ว และถ้ามีลูกโค แสดงอาการป่วยให้แยกไว้ต่างหาก
ให้อาหารที่มีคุณภาพ ถูกสัดส่วนและสะอาด สำหรับแม่โคก่อนคลอดควรให้กินอาหารอย่างเพียงพอโดยเฉพาะวิตามิน ส่วนลูกโคถ้าให้กินหางนม (skim milk) ต้องเพิ่มวิตามินเอด้วย
ลดความเครียดต่างๆ เช่น คอกสะอาดไม่ชื้นแฉะ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อยู่ในที่หนาวเย็น ร้อน หรือ ถูกฝนมากเกินไป ไม่ให้ลูกโคอยู่กันแน่นเกินไปและ
ไม่เลี้ยงรวมกับโคที่มีอายุ
ให้ยาถ่ายพยาธิ และตรวจโรคในฝูง อย่างสม่ำเสมอ
ล้างคอกสัตว์ป่วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
การเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ

เก็บอุจจาระ อวัยวะภายในที่มีวิการ ลำไส้ที่มีอาหารแล้วผูกหัวท้ายไว้แช่ในภาชนะที่
ควบคุมความเย็นนำส่งห้องปฏิบัติการ


โรคพาราทูเบอร์คูโลซิส (Paratuberculosis, Johne's diseases)


โรคนี้เป็นโรคติดต่อ เรื้อรังในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ได้แก่ โค กระบือ แพะ และแกะ ลักษณะที่สำคัญของโรค คือ ทำให้สัตว์ป่วยแสดงอาการท้องเสียเรื้อรังมีผลทำให้เกิดความสูญเสียทาง เศรษฐกิจอย่างมาก
สาเหตุและการแพร่โรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม พาราทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) เชื้อสามารถเจริญเติบโตและฟักตัวอยู่ได้นาน2ปีหรือมากกว่านี้ในสัตว์ป่วยโดย ยังไม่แสดงอาการ และสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นานหลายปี สัตว์ป่วยจะปล่อยเชื้อออกมาพร้อมกับอุจจาระ โดยสัตว์นั้นจะสามารถปล่อยเชื้อออกมากับอุจจาระได้
ก่อนแสดงอาการถึง 15 เดือน การติดต่อและการแพร่กระจายของโรคจึงเกิดจากการกินอาหาร น้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ลูกโคอายุแรกเกิดถึง 6 เดือน จะติดโรคได้ง่าย
อาการ
ท้องเสียอย่างเรื้อรัง กินน้ำบ่อย น้ำหนักลด เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียด เช่น
การขนย้ายสัตว์ การคลอดลูก สัตว์จะแสดงอาการรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดจะขาดน้ำ
อย่างรุนแรง และตายได้ ในโคนมน้ำนมจะลดในระยะที่ยังไม่แสดงอาการท้องเสีย
โคที่เป็นโรคยังกินอาหารได้ปกติ แต่กินน้ำมากกว่าปกติ อุจจาระเหลวใสเป็นเนื้อเดียว
ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ไม่มีเลือดหรือมูกปน อาการท้องเสียเป็นติดต่อกันตลอดไป
หรือเป็นๆ หายๆ ก็ได้
การตรวจวินิจฉัย
เนื่อง จากสัตว์ที่เป็นตัวอมโรคมักจะไม่แสดงอาการให้เห็น การเฝ้าระวังโรค จึงต้องใช้วิธีการตรวจทางซีรั่มวิทยา เพื่อทำการคัดแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง ส่วนสัตว์ที่แสดงอาการของโรคแล้วก็จะต้องทำการวินิจฉัยยืนยันการเป็นโรค แบะแยกออกจากฝูงทันที
การวินิจฉัยโรคมีดังนี้
1. การตรวจหาเชื้อ ไมโคแบคทีเรียม พาราทูเบอร์คูโลซิส
     - การผ่าซาก ตรวจดูลักษณะวิการของโรคที่ลำไส้ และต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
พบลำไส้หนาตัวขึ้น ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
     - การตรวจทางจุลพยาธิวิทยา และย้อมสีพิเศษซีลเนลเสน
     - ตรวจอุจจาระโดยการย้อมสีพิเศษซีลเนลเสน
     - การเพาะเชื้อแบคทีเรีย จาก อุจจาระ ตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มีวิการของโรค
     - การตรวจดีเอ็นเอ
2. การตรวจทางซีรั่มวิทยา เพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ ไมโคแบคทีเรียม พาราทูเบอร์คูโลซิส มีหลายวิธี เช่น คอมพลีเมนต์พิกเซชั่นเทสต์ อีไลซ่า เป็นต้น

การรักษา
การรักษาไม่ ได้ผล ยาปฏิชีวนะบางตัวมีผลเพียงเล็กน้อยในการทำให้สัตว์ป่วยหยุดแสดงอาการเพียง ระยะหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีการรักษาสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ วัคซีนไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากไม่ให้ผลคุ้มโรค
การควบคุมและป้องกัน
ตรวจสุขภาพสัตว์ประจำปีพบสัตว์ที่สงสัยเก็บซีรั่มและอุจจาระส่งห้องปฏิบัติการ
คัดแยกตัวสงสัยว่าเป็นโรคออกจากฝูงและทำลายสัตว์ป่วย
ควรเน้นการจัดการฟาร์มและดูแลความสะอาดของฟาร์ม
แยกเลี้ยงลูกโคจากแม่ที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าเป็นโรคทันทีหลังคลอด



ตัวอย่างที่เก็บจากสัตว์ขณะมีชีวิต ได้แก่ ซีรั่ม อุจจาระ
ตัวอย่างที่เก็บจากสัตว์ที่ตายแล้ว
- ส่งตรวจแยกหาเชื้อแบคทีเรีย : ให้เก็บอุจจาระพร้อมลำไส้บริเวณรอยโรค ต่อมน้ำเหลือง แช่เย็นส่งห้องปฏิบัติการ หากส่งไม่ทันให้เก็บแช่แข็ง
- ส่งตรวจทางจุลพยาธิวิทยา : เก็บลำไส้
และต่อมน้ำเหลืองที่มีรอยโรคแช่ในน้ำยาฟอร์มาลินบัฟเฟอร์ 10% และส่งห้องปฏิบัติการ


ช่องคลอด (มดลูก) ทะลัก (Vaginal prolapse)


ช่องคลอด (มดลูก) ทะลัก คือการที่มดลูกโผล่ออกมาภายนอกร่างกาย โดยมากจะพบ
ในระยะหลังคลอดแม่โคจะเบ่งดันส่วนของปากมดลูก และโพรงปากมดลูก (vagina)
บางส่วนหรือทั้งหมดออกมาทางปากช่องคลอด

สาเหตุ
1. มักพบในแม่โคที่มีอายุมากและให้ลูกมาหลายตัวแล้ว ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณ
ปากช่องคลอดหย่อนหรือไม่แข็งแรง
2. แม่โคผอมหรือขาดการออกกำลังกายในระยะก่อนคลอด
3. เกิดจากการขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซี่ยม
4. เกิดจากความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดเบ่ง เช่น กระเพาะลำไส้อักเสบจากการติดพยาธิ โดยเฉพาะพยาธิกลุ่มตัวกลมในกระเพาะลำไส้ (Gastro-intestinal nematode) เช่น พยาธิตัวกลมขนาดเล็กสีแดง (Mecistocirrus spp.)
5. รกค้าง
การแก้ไข
ให้ลดขนาดมดลูกที่บวมน้ำ ให้เล็กลงโดยใช้น้ำตาลทรายทาบริเวณมดลูกจากนั้นใช้ยาชา (2% xylocain) ฉีดเข้าบริเวณช่องไขสันหลังส่วนล่าง (low epidural anesthesia) ประมาณ 5-8 ซี.ซี. ตามขนาดแม่โค จากนั้นใช้มือกำแน่นดันส่วนของมดลูกที่ไหลออกมาให้คืนกลับเข้าไปในช่องท้อง แล้วสอดยาปฏิชีวนะชนิดเม็ดเข้ามดลูก จากนั้นจึงเย็บปากช่องคลอดไว้ชั่วคราวด้วยไหมละลายขนาดใหญ่ แล้วฉีดฮอร์โมนพวกออกซีโทซิน (oxytocin) เพื่อให้มดลูกมีการหดตัวโดยทั่วไปภายใน 1 สัปดาห์จะตัดไหมที่เย็บไว้ออกได้
อย่างไรก็ดีควรหาสาเหตุและทำการแก้ไขสาเหตุ เช่น กรณีแม่โคเป็นโรคพยาธิภายใน
ควรทำการถ่ายพยาธิ จะช่วยลดอาการปวดเบ่งในแม่โคทำให้การรักษามดลูกทะลัก
ได้ผลดียิ่งขึ้น
การป้องกัน
1. เสริมแร่ธาตุก้อนหรือชนิดผงให้แม่โคได้เลียกินเป็นประจำ
2. ให้ยาถ่ายพยาธิภายในแก่แม่โคเป็นประจำ
3. ถ้าแม่โคมีอายุมากและเคยเป็นมดลูกทะลักมาก่อน ควรพิจารณาคัดแม่โคออกจากฝูง เพราะอาจจะเกิดซ้ำได้อีกเมื่อมีการคลอดลูกตัวต่อไป



โรคแท้งติดต่อ (Bovine brucellosis)



หรือชื่อทางการแพทย์เรียกว่า โรคบรูเซลโลซีส เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่สำคัญของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โค กระบือ สุกร แพะ
 ม้า สุนัข เป็นต้น โรคนี้สามารถติดต่อถึงคนได้
 ลักษณะที่ควรสังเกตของโรคนี้ คือ สัตว์จะแท้งลูกในช่วงท้ายของการตั้งท้อง และอัตราการผสมติดในฝูงจะต่ำ  

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบมีการแพร่ระบาดในทุกประเทศของโลก โดยเฉพาะ โคนม ซึ่งโคทุกอายุ สามารถติดเชื้อ นี้ได้ แต่ในโคสาว 
แม่โค โคตั้งท้อง และโคเพศผู้ที่โตเต็มวัย สามารถติดเชื้อนี้ได้ง่ายกว่าลูกโค การติดเชื้อเกิดจากการกินอาหาร น้ำที่มีเชื้อปะปน ซึ่งเชื้อนี้จะ
 ออกมากับน้ำปัสสาวะ น้ำนม น้ำคร่ำของโคที่เป็นโรค หรืออาจติดเชื้อได้โดยการสัมผัสโดยตรง เชื้อเข้าทางผิวหนังเยื่อชุ่ม โดยการหายใจ
 การผสมพันธุ์โดย วิธีธรรมชาติ   

อาการ
แม่โคจะแท้งลูกในระยะตั้งท้องได้ 5 - 8 เดือน จะมีรกค้าง และมดลูกอักเสบตามมาเสมอ การแท้งมักเกิดขึ้นในการ ตั้งท้องแรกเท่า
นั้น หลังจากนั้นอาจไม่แท้ง แต่จะเป็นตัวอมโรคแพร่ไปยังโคตัวอื่น ๆ ได้ โคเพศผู้ ลูกอัณฑะจะบวมโตข้างหนึ่ง และเป็นหมัน ในคนจะมี
อาการ หนาวสั่นไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ มีเหงื่อออกมาก ในเวลากลางคืนจะปวดเมื่อยตามข้อ และตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียเบื่ออาหาร ตัวเหลืองซีด 

การรักษา
มักไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร ที่สำคัญควรควบคุมและป้องกัน โดยตรวจโรคทุก ๆ 6 เดือนในฝูงโคที่ยังไม่ปลอดโรค และ ทุกปีในฝูงโค
ที่ปลอดโรค สัตว์ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคควรจะแยกออกจากฝูง
คอกสัตว์ป่วยด้วย โรคนี้ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด แล้วทิ้งร้างไว้อย่างน้อย 1 เดือน ก่อนนำสัตว์ใหม่เข้าคอก ทำลายลูกที่แท้ง รก 
น้ำคร่ำ โดยการฝังหรือเผา แล้วทำความสะอาดพื้นที่นั้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ กำจัด นก หนู แมลง สุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงอื่น ซึ่งเป็นตัวแพร่
โรคออกไป สัตว์ที่นำมาเลี้ยงใหม่ ต้องปลอดจากโรคนี้ก่อนนำเข้าคอก โคพันธุ์ที่ใช้ต้องไม่เป็นโรคนี้ และควรฉีดวัคซีน ป้องกันโรคนี้ในโค
 กระบือ เพศเมีย อายุ 3 - 8 เดือน ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคได้นานถึง 6 ปี 



โรคปากและเท้าเปื่อยหรือ FMD (Foot and Mouth Disease)
           โรคปากและเท้าเปื่อยส่วนใหญ่เกษตรกรมักไม่ให้ความสนใจเพราะคิดว่าสัตว์ที่ ป่วยเป็นโรคแล้วไม่ตายมีอัตราการตายต่ำ การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้อัตราการป่วยของโรคค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ที่ไม่มีภูมิ คุ้มกันโรค มีผลทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณอย่างมากในการรักษาและการควบคุมการแพร่ระบาด ที่สำคัญสูญเสียโอกาสในการส่งออกปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ ทำให้เสียเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ประเทศผู้ซื้อจะใช้เป็นเงื่อนไขในการไม่รับซื้อสินค้าจากประเทศไทย ทั้งยังไม่สามารถนำสัตว์มาใช้งานได้ จึงอยากชี้แจงให้เกษตรกรรู้และเข้าใจโรคปากและเท้าเปื่อย เพื่อประโยชน์ในการดูแลสัตว์อย่างถูกต้อง
สาเหตุของโรค
          เกิดจากเชื้อไวรัสมี 7 ชนิด ในประเทศไทยพบ 3 ชนิด คือ ชนิดโอ (O) ชนิดเอ (A) ชนิดเอเชียวัน (Asia -1) ซึ่งเชื้อไวรัสแต่ละชนิดจะไม่มีภูมิคุ้มกันซึ่งกันและกัน เช่น สัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคชนิดโอ ก็ไม่สามารถกันโรคที่เกิดจากชนิดเอได้ 
ประเภทของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้
          โรคนี้มักเกิดในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร และอาจ พบใน กวาง ช้าง อูฐ รวมทั้งในคนได้อีกด้วย แต่การติดเชื้อในคนสามารถติดจากบาดแผลทางผิวหนังหรือเยื่อบุช่องปาก การติดเชื้อจะเป็นแบบชั่วขณะมีความรุนแรงน้อย บางโอกาสจึงจะแสดงอาการ เช่น มีตุ่มที่มือ เท้า แต่การเกิดโรคปากและเท้าเปื่อยในคนจะเกิดได้ยากมาก
การติดต่อของโรค
           โรคปากและเท้าเปื่อยนี้แพร่ระบาดรวดเร็ว และกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคนี้สามารถแพร่ระบาดได้จาก การได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์ คน เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ภายในคอกสัตว์ การสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง หรือสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วย เช่น น้ำนม ลมหายใจ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ของเหลวจากตุ่มใส สัตว์ป่วยสามารถแพร่โรคได้แม้จะยังไม่แสดงอาการหรืออยู่ในระยะฟักตัว ในสัตว์แต่ละชนิดปริมาณไวรัสที่ขับออกมาจะ แตกต่างกัน ในสุกรขับออกมาทางลมหายใจมากกว่าโค 30 - 1,000 เท่า สุกรจึงเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคที่สำคัญ โรคปากและเท้าเปื่อยนี้แพร่ระบาดได้ อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในที่มีอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสูง 
อาการของโรค
ในระยะแรก หลังจากได้รับเชื้อไวรัสปากและเท้าเปื่อย 2 - 8 วัน สัตว์จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เกิดเม็ดตุ่มใสที่เยื่อบุภายในช่องปาก หรือลิ้น หรือ เหงือก หลังจากนั้นตุ่มใสจะแตก และเนื้อเยื่อจะลอก ทำให้สัตว์เจ็บปาก กินอาหารลำบากจน กระทั่งกินอาหารไม่ได้ 
       ในระยะที่สอง เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายไปทั่วร่างกาย ผิวหนังที่เท้าจะบวมแต่ง มีน้ำเหลืองขังอยู่ภายใน แล้วแตกออกเป็นแผล มักพบบริเวณไรกีบหรือซอกกีบ ซึ่งอาจเปื่อย ลอกคราบ และอาจทำให้ขาสัตว์เสียได้ นอกจากนั้นหากเกิดในโคนม จะทำให้อัตราการให้นมลดลง และจะหยุดให้นมในที่สุด หากเกิดในโคเนื้อและสุกร จะทำให้สัตว์น้ำหนักลด มีผลให้เกษตรกร สูญเสียทั้งเงินและเวลาในการเลี้ยง และหากเกิดในสัตว์ที่กำลังท้องอาจทำให้สัตว์เกิดการแท้ง และมีปัญหาการผสมไม่ติดได้
การตรวจวินิจฉัยโรค
          -  การสังเกตจากอาการของสัตว์ป่วย เช่น น้ำลายไหล ขาเจ็บ เมื่อเปิดปากตรวจ พบมีตุ่มใสหรือแผลบริเวณ ลิ้น เหงือก เยื่อบุในช่องปาก แผลบริเวณซอกกีบ ไรกีบ บางรายมีการลอกของกีบ
          -  การตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการ โดยการเก็บตัวอย่างน้ำจากตุ่มใส หรือเนื้อเยื่อของตุ่มใสที่แตกออกทั้งในบริเวณ ลิ้น เหงือก เยื่อบุในช่องปาก บริเวณกีบ ใส่ขวดที่สะอาดมี 50 % กลีเซอรีนบัฟเฟอร์ ผสมอยู่ นำส่งห้องปฏิบัติการพร้อมกรอกประวัติสัตว์ที่ป่วยโดยละเอียด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการโดยวิธี ELISA Test เพื่อทำการจำแนกชนิดของไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD Typing) ว่าสัตว์ป่วยด้วยเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยชนิดใดหรือทำการแยกเชื้อไวรัส



การควบคุมและ ป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย  
1.   การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 
2.   การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โรคปากและเท้าเปื่อย โดยการฉีดวัคซีน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง 
3.   การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ 
4.   การทำลายสัตว์ป่วย 
      -   กรณีที่เกิดโรคปากและเท้าเปื่อย ขึ้นในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตปลอดโรคแล้ว ให้ทำลาย 100 เปอร์เซ็นต์ทันที 
      -   กรณีที่เกิดโรคปากและเท้าเปื่อยขึ้นในพื้นที่ ที่ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นเขตปลอดโรค ให้ทำลายเฉพาะกรณี ที่ทำลายแล้วสามารถควบคุมโรคได้ 
      -   กรณีที่ตรวจพบโรคในสัตว์ที่เคลื่อนย้ายไปต่างท้องที่ การทำลายสัตว์ป่วยตามระเบียบที่กรมปศุสัตว์กำหนด สามารถชดใช้เงินให้แก่เจ้าของสัตว์ไม่เกิน 75% ของราคาสัตว์ในท้องตลาดขณะนั้น ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ยกเว้นกรณีเจ้าของสัตว์จงใจ กระทำผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ 2499 ส่วนการเบิกจ่ายเงินชดใช้ กรณีทำลายสัตว์ให้เบิกจ่ายให้เบิก จ่ายงบประมาณเงินหมวดอุดหนุน






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น